 |
เขียนโดย : แพทย์หญิงอินสุดา อาการผิดปกติทางตาในเด็กอาจเกิดได้ตั้งแต่แรกเกิด โดยอาการที่สำคัญที่ควรปรึกษาจักษุแพทย์มีดังนี้
- ไม่จ้องหน้าหรือไม่มองตาม ในเด็ก 1-2 เดือนแรกจะมีพัฒนาการด้านสายตาก่อน เด็กจะต้องจ้องมองได้เมื่ออายุไม่เกิน 2 เดือนโดยจะมองหน้ามารดาขณะให้นม และมองตามหน้ามารดาที่ขยับไปมาได้เมื่ออายุ 2-6 เดือน และมองตามสิ่งของใหญ่ๆ ที่ไม่มีเสียง เมื่ออายุมากกว่า 6 เดือน หากเด็กมองตามเสียงเพียงอย่างเดียว อาจมีความผิดปกติทางตาก็ได้
- ตาสั่นขณะที่เด็กจ้องมอง ตาดำควรจะมองนิ่ง หากมีอาการตาสั่นอาจบ่งถึงภาวะผิดปกติของตา หรือความผิดปกติของสมอง
- ตาวาวคล้ายตาแมวตอนกลางคืน หรือมองเห็นสีขาวในตาดำ อาจเกิดจากความผิดปกติของตา เช่น ต้อกระจก ต้อหิน เนื้องอกหรือมะเร็งของจอประสาทตา โดยเนื้องอกหรือมะเร็งของจอประสาทตาเป็นโรคร้ายแรงที่พบในเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่ และเป็นโรคที่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมด้วย (ภาพที่ 1)
|
 รูปที่1. ตาวาวคล้ายตาแมวตอนกลางคืนหรือมองเห็นสีขาวในตาดำ |
|
 รูปที่2. ตาเข ตาเหล่ ตาลอย |
- ตาเข ตาเหล่ ตาลอย อาการตาเหล่หรือตาเขนั้น คือการที่ตาดำอยู่ในตำแหน่งผิดปกติ อาจเขเข้าด้านใน หรือออกด้านนอกมากกว่าปกติ หรือตาดำลอยขึ้นด้านบน อาจเป็นตลอดเวลาหรือเป็นบางครั้งก็ได้ โดยอาการเหล่านี้นอกจากทำให้ดูแปลกผิดปกติแล้ว เนื่องจากเด็กไม่ใช้ตาที่เขในการมอง ทำให้การพัฒนาของสายตาในตาข้างที่เขไม่ดี เกิดภาวะตาขึ้เกียจขึ้น และเกิดตามัวในตาข้างที่เข (ภาพที่ 2)
|
- เอียงหน้าดู หรือเอียงคอมอง มักเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อตา หรือกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ หรือ ความผิดปกติของสายตา
- ดูหนังสือ หรือดูโทรทัศน์ในระยะใกล้ มักเกิดจากความผิดปกติของสายตา
- บ่นปวดศรีษะในตอนเย็น หรือหลังเลิกเรียน มักเกิดจากความผิดปกติของสายตา หรือความผิดปกติของกล้ามเนื้อตา
- บ่นว่ามองกระดานไม่ชัด มักเกิดจากความผิดปกติของสายตา
การที่เด็กจะเติบโตอย่างมีคุณภาพ จำเป็น ต้องมองมีการมองเห็นที่ดี บิดามารดา หรือผู้ปกครองจึงควรหมั่นสังเกตถึงความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ดังกล่าวข้างต้น เพื่อจะได้ปรึกษาจักษุแพทย์ได้อย่างทันท่วงที
|